You are currently viewing มสธ. ร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุม SEAMEO Congress 2021

มสธ. ร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุม SEAMEO Congress 2021

องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีมีโอ (Southeast Asian Ministers of Education Organization: SEAMEO) ร่วมกับกระทรวงการศึกษาประเทศไทยและมาเลเซีย จัดการประชุมออนไลน์ SEAMEO Congress 2021 for Education, Science and Culture ระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน 2564 ในหัวข้อ Transforming Southeast Asian Education, Science and Culture in the Digital Age โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกร่วมเป็นวิทยากร

SEAMEO Congress 2021 เป็นเวทีสนทนาหัวข้อนวัตกรรมความก้าวหน้าและแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อบรรลุ SDG4 2030 ในระหว่างและหลังการระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้การประชุมยังอภิปรายเกี่ยวกับแพลตฟอร์มการพัฒนาที่ยั่งยืน การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างผู้จัดการศึกษาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในอาเซียนและภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้และรับรองให้การศึกษาในภูมิภาคเข้าถึงได้และเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบัน

SEAMEO Congress 2021 ประกอบด้วยการประชุมรวมในห้องใหญ่ (plenary session) 6 หัวข้อและการประชุมย่อย 13 หัวข้อ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ที่สามารถนำไปสู่การส่งเสริมการพัฒนามนุษย์ในระดับชุมชนประเทศภูมิภาคและในระดับโลก โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 15,000 คน จาก 65 ประเทศ ในแพลตฟอร์มการประชุม FLOOR ซึ่งจัดสรรให้มีรูปแบบการจัดการประชุมที่คล้ายคลึงกับการประชุมแบบเผชิญหน้า นอกจากการประชุมห้องรวมและห้องย่อยแล้ว ยังมีบูทออนไลน์ 50 บูท และบูทนำเสนอ e-Poster 50 บูทอีกด้วย

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเข้าร่วมสนับสนุนการจัดการประชุม SEAMEO Congress 2021 โดยมีคณาจารย์เข้าร่วมเป็นวิทยากร นำเสนอผลงานทางวิชาการ และจัดบูทออนไลน์เผยแพร่การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมที่น่าสนใจหลายส่วน อาทิ Sufficiency Economy Philosophy and Society in the New Normal: Balancing Reforms for Achieving the SDGs ซึ่งวิทยากรได้มาแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเน้นย้ำให้สถาบันการศึกษาเป็นแหล่งบ่มเพาะวิธีคิดไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่จำเป็นต้องสอนผ่านหลักสูตรหรือรายวิชาพิเศษ แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียน ทั้งนี้ นอกจากจะตอบโจทย์ SDG4 แล้ว สถาบันการศึกษายังสามารถเป็นเวทีในการทำความเข้าใจและปรับใช้ SDG7 และ SDG13 ด้านพลังงานและสภาพอากาศ SDG14/15 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ SDG11 และ SDG12 ด้านชุมชนที่ยั่งยืนและรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน รวมถึงเป้าหมาย SDGs ข้ออื่น ๆ ที่สถาบันอุดมศึกษาสามารถหยิบไปเชื่อมโยงกับหลักสูตรที่มีอยู่แล้วหรืองานวิจัยต่าง ๆ

SDGs 1-17

ผู้สนใจสามารถเข้าชมการประชุมย้อนหลังได้ทาง YouTube ช่อง SEAMEO Secretariat: https://www.youtube.com/watch?v=Qdk9J5nkXgE&list=RDCMUC63z6zJBRw0qknX0PjhgzGA&start_radio=1


รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร พุทธาพิทักษ์ผล รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและสนับสนุนการเรียนรู้ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 โดยการสอบออนไลน์ของ มสธ. ในการอภิปรายหัวข้อ Transforming Higher Education in the Digital Era (การปฏิรูปการอุดมศึกษาในยุคดิจิทัล) Parallel Session 3 วันพฤหัสบดี 29 เมษายน 2564 เวลา 10.15-11.30 น.

รองศาสตราจารย์ ดร.วฤษาย์ ร่มสายหยุด (ภาพซ้าย) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมผกา ประเสริฐศิลป์ (ภาพขวา) 
อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมแบ่งปันผลการวิจัย การประยุกต์ใช้ TPACK เพื่อพัฒนาการจัดการสะเต็มศึกษา ในการอภิปรายหัวข้อ School Improvement to Strengthen STEM Education (การปรับปรุงโรงเรียนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสะเต็มศึกษา) Parallel Session 4 วันพฤหัสบดี 29 เมษายน 2564 เวลา 11.30-12.30 น.

รศ.ดร.วฤษาย์ ร่มสายหยุด ได้กล่าวว่า “SEAMEO CONGRESS 2021 ได้สร้างความประทับใจให้อาจารย์มาก และตื่นเต้นที่ได้เข้าร่วมการประชุมเสมือนจริงครั้งนี้ แพลตฟอร์ม Floor ได้นำผู้พูด ผู้ฟัง และผู้เข้าร่วมงานสามารถอภิปราย แชร์เอกสารประกอบคำบรรยาย และวิดีโอ ใช้งานง่ายแม้อาจารย์จะไม่มีประสบการณ์ก็ตาม อาจารย์ได้รับประสบการณ์ที่ดีสำหรับหัวข้ออภิปรายนี้ และสามารถปรับปรุงตนเองโดยอาศัยการแลกเปลี่ยนความรู้ “เราเรียนรู้แบ่งปัน และก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน” ขอขอบพระคุณเจ้าหน้าที่สถานวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชสำหรับการสนับสนุนที่ดีเยี่ยมในการจัดการประชุมที่ประสบความสำเร็จในครั้งนี้”

ผศ.ดร.พิมผกา ประเสริฐศิลป์ กล่าวว่า “ต้องขอขอบพระคุณ มสธ. ที่ได้ให้โอกาสในการเข้าร่วมเป็น Speaker ในการประชุม SEAMEO Congress 2021 ครั้งนี้ค่ะ ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีโอกาสที่ดีในการทำงานร่วมกันกับอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และยังได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับผู้เข้าร่วมประชุมต่างชาติ อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ มสธ. ให้เป็นที่รู้จักกับ SEAMEO และ STEM-Ed ทั้งจากต่างชาติและประเทศไทยด้วยค่ะ”

อาจารย์ ดร.อดิเรก วัชรพัฒนกุล อาจารย์ประจําสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ นำเสนอผลงานทางวิชาการ
ในวันพุธที่ 28 เมษายน 2564 เวลา 17.45-19.00 น. ใน Session B:Teaching Innovation and Research in TVET

ดร.อดิเรก วัชรพัฒนกุล กล่าวว่า “การที่ มสธ. ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการประชุม SEAMEO Congress 2021 ครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับประชาคมโลกทางการศึกษาอย่างมาก ทั้งทางด้านการแสดงเจตจำนงของ มสธ. ในการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางการศึกษาระหว่างองค์กรระดับนานาชาติ และการเป็นช่องทางให้ประชาชนภายในประเทศได้เข้าถึงความรู้และนวัตกรรมทางการศึกษาต่อไปในอนาคต สำหรับผมรู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ มสธ. เปิดโอกาสให้ผมและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ได้ร่วมภารกิจที่สำคัญครั้งนี้ครับ”

อาจารย์ ดร.วรวิช นาคแป้น อาจารย์ประจําสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ นำเสนอผลงานทางวิชาการ
ในวันพุธที่ 28 เมษายน 2564 เวลา 17.45-19.00 น. ใน Session E:Research at classroom and school levels

ดร.วรวิช นาคแป้น ให้ความเห็นว่า “ในฐานะอาจารย์ที่เพิ่งจะบรรจุเข้ามาทำงานกับสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ไม่นานนั้น ขอขอบคุณสถานวิเทศสัมพันธ์ที่หยิบยื่นโอกาสดี ๆ ในการสนับสนุนให้ผลการศึกษาของกระผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุม SEAMEO Congress 2021 ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการเปิดประตูการเรียนรู้ในฐานะผู้ที่ทำงานอยู่ในวงการการศึกษาได้เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันตามความสามารถและความเชี่ยวชาญที่ตนเองมี จากผู้ทรงคุณวุฒิภายในประเทศไทยและต่างประเทศมากมาย อีกทั้งยังมีการนำเอาเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่มาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน”