สถานวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดการบรรยายพิเศษ เรื่อง “แนวคิดการจัดการมหาวิทยาลัยวัยที่สาม” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อาชัญญา รัตนอุบล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร เมื่อวันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2565 เวลา 10.00 น. ผ่านโปรแกรม Microsoft Teams ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรรณ จรรยาวุฒิวรรณ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายบริการวิชาการ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และวิเทศสัมพันธ์ ให้เกียรติกล่าวเปิดการบรรยาย
รองศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี ธีรธรรมากร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสถานวิเทศสัมพันธ์ กล่าวในรายงานว่า “มหาวิทยาลัยมีนโยบายในการจัดการศึกษาตลอดชีวิตทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยให้ทันสมัย และเล็งเห็นว่าการเป็นมหาวิทยาลัยวัยที่สามของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการรองรับการปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ของคนในยุคนี้”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรรณ จรรยาวุฒิวรรณ์ กล่าวว่า “ถือเป็นโอกาสอันดีที่บุคลากรของมหาวิทยาลัยจะได้รับความรู้เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยวัยที่สาม และแนวทางการจัดการมหาวิทยาลัยวัยที่สาม ซึ่งรอบรับการจัดการศึกษาตลอดชีวิตของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช”
รองศาสตราจารย์ ดร.อาชัญญา รัตนอุบล ได้นำเสนอ ดังนี้
ความหมาย มหาวิทยาลัยวัยที่สาม เป็นการจัดกรรมการศึกษาที่จัดให้สำหรับผู้สูงอายุโดยตรง
รูปแบบ โดยมีรูปแบบในการดำเนินการเป็น 5 รูปแบบ คือ (1) รูปแบบการจัดสอนในมหาวิทยาลัยในลักษณะการเรียนเสริมระยะสั้น (2) รูปแบบโรงเรียนผู้สูงอายุในชุมชน (3) รูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามอัธยาศัย (4) รูปแบบมหาวิทยาลัยวัยที่สามเสมือนจริง (vU3A) และ (5) รูปแบบผสมผสาน
ลักษณะการดำเนินงาน ของมหาวิทยาลัยวัยที่สามทั้ง 4 รูปแบบ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้ตอบสนองกับ บริบทภูมิสังคมตามแต่ละภูมิภาคของประเทศ
เนื้อหา ส่วนใหญ่ที่จัดในมหาวิทยาลัยวัยที่สาม ที่จัดโดยรูปแบบของมหาวิทยาลัยสำหรับผู้สูงอายุ คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิต ระบบสวัสดิการของสังคม เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การเข้าใจวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนเรื่องภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามความสมัครใจ
การติดตามประเมินผล อยู่ในรูปแบบที่ยืดหยุ่น
ข้อเสนอแนะ สำหรับการจัดการมหาวิทยาลัยวัยที่สามในประเทศไทย
ทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยวัยที่สามยังคงมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเป็นองค์รวมรอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจหรือจิตวิญญาณ และสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างมีความสุข ลักษณะกิจกรรมมีทั้งที่เป็นแบบเรียบง่ายผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ หรือจากประสบการณ์ที่ผู้อื่นนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นการพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดี กิจกรรมการพูด คิด อ่าน เขียน อย่างสมํ่าเสมอ และการใช้สื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต การศึกษาทางไกลSocial Media Online courses เป็นต้น
ส่งเสริมแนวคิดมหาวิทยาลัยวัยที่สาม (The University of the Third Age: U3As) ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทางการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ ด้วยการสร้างความตระหนักและการพึ่งตนเอง เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้สูงอายุและสนับสนุนให้มีสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ มีการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่องสำหรับผู้สูงอายุ มีการฝึกอาชีพ และกิจกรรมตามความสนใจ
ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากเอกสารประกอบการบรรยาย
สถานวิเทศสัมพันธ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้าฟังบรรยายจะได้รับความรู้ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในการจัดการมหาวิทยาลัยวัยที่สามต่อไป
เอกสารประกอบการบรรยาย: https://dia.stou.ac.th/wp-content/uploads/2022/04/แนวคิดการจัดการมหาวิทยาลัยวัยที่สาม.pdf