การส่งเสริมความร่วมมือกับสถาบัน The Swiss Federal Laboratories for Material Science and Technology (EMPA) ของสมาพันธรัฐสวิส

ด้วยกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ได้รายงานเกี่ยวกับสถาบัน The Swiss Federal Laboratories for Material Science and Technology (EMPA) ของสมาพันธรัฐสวิส ประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับสถาบัน EMPA งานวิจัยของสถาบันฯ และการแสดงความสนใจที่จะมีความร่วมมือกับไทยในด้านอาหารและการแพทย์ โดยกระทรวงการต่างประเทศขอให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการแสวงหาลู่ทางส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยหรือด้านอื่น ๆ ร่วมกับสถาบัน EMPA รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบัน EMPA มีดังนี้

  1. สถาบัน EMPA อยู่ภายใต้สหภาพมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐบาลกลางสวิส ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมงานวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสนับสนุนเศรษฐกิจสวิส มีสาขางานหลัก ได้แก่ สุขภาพ เทคโนโลยีและวัสดุโครงสร้างระดับนาโนพลังงาน การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และทรัพยากรและมลภาวะ ทั้งนี้ สถาบัน EMPA มีเงินทุนสำหรับงานวิจัยในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 105.5 ล้านฟรังก์สวิส และเงินทุนจากภายนอกอีก 60.2 ล้านฟรังก์สวิส มีโครงการวิจัยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลและสหภาพยุโรป 287 โครงการ มีบุคลากร 1,000 คน (เป็นนักวิทยาศาสตร์ 550 คน) มีการจัดทำสัญญางานวิจัยกับภาคเอกชน 1,200 ฉบับ และมีสัญญาใหม่ที่อยู่ระหว่างการเจรจา 200 ฉบับ มีการตีพิมพ์ผลงาน 700 เรื่อง และมีโครงการบ่มเพาะธุรกิจ 2 แห่ง เชื่อมโยงกับ start-up 28 แห่ง ตลอดจนความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในสมาพันธรัฐสวิส ยุโรป อเมริกา และเอเชีย
  2. งานวิจัยของสถาบัน EMPA ถูกนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ ภาคสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพ ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อิเล็กทรอนิกส์และเหล็ก ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง และภาคการขนส่ง โดยมีตัวอย่างการดำเนินงานและงานวิจัยที่สำคัญ ได้แก่ การเป็นจุดติดต่ออย่างเป็นทางการของสมาพันธรัฐสวิสด้านนาโนเทคโนโลยี การผลิตแผงโซลาเซลล์แบบแผ่นฟิล์ม การกำหนดคุณลักษณะของหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 การผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุ การวิจัยและพัฒนาสารเติมแต่งที่ยั่งยืนสำหรับเป็นสารประกอบของผลิตภัณฑ์ยาง นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือด้านวิจัยกับไทยระหว่างปี พ.ศ. 2556-2561 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยด้านคอนกรีตของสถาบัน EMPA และบริษัท SCG ของไทย เพื่อจัดอบรมด้านเทคโนโลยีคอนกรีตและพัฒนาโครงการเกี่ยวกับการปรับคุณสมบัติภายในคอนกรีตเพื่อเพิ่มความทนทานและอายุการใช้งาน
  3. ความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ BCG สถาบัน EMPA มองว่า การพัฒนาการก่อสร้างแบบยั่งยืนและใช้พลังงานสะอาดจะช่วยแก้ปัญหาที่เป็นความท้าทายของโลกในปัจจุบัน ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ปัญหาขยะ การพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG และสามารถเป็นรากฐานของความร่วมมือกับหน่วยงานของไทยได้
  4. สาขาความร่วมมือที่สนใจทำร่วมกับไทย ได้แก่ ด้านอาหารและการแพทย์ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเก็บรักษาอาหารและลดปริมาณขยะอาหาร

หากหน่วยงานพิจารณาแล้วมีความประสงค์ที่จะร่วมมือกับสถาบัน EMPA สามารถดาวน์โหลดและกรอกข้อมูลจากลิงก์นี้ https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1h6_9R_cNWNVrg5rstsPu1oE3xjvxwyz9 และนำส่งข้อมูลตามแบบฟอร์มในรูปแบบไฟล์ Microsoft Word ไปยัง สป.อว. ทางอีเมล [email protected] โทร. 086 414 9606 ภายในวันที่ 21 ตุลาคม 2564 และโปรดแจ้งให้สถานวิเทศสัมพันธ์ มสธ. ทราบ ทางอีเมล [email protected] อีกทางหนึ่งด้วย


เอกสารต้นเรื่อง: https://dia.stou.ac.th/wp-content/uploads/2021/10/News91-EMPA-Swiss.pdf