มหาวิทยาลัยเปิดมาลเซีย (Open University of Malaysia: OUM) จัดการประชุม DIGITAL TRANSFORMATION FOR A BETTER FUTURE IN EDUCATION เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 มีผู้เข้าประชุมจากประเทศต่าง ๆ ราว 200 คน
ศ.เกียรติคุณ ดร. บุญทิพย์ สิริธรังศรี ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐก ในหัวข้อ News Norm & Emotional well-being ร่วมกับวิทยากรอีก 2 ท่าน คือ ดร. เจมส์ เบรินตัน จากมหาวิทยาลัยดับลินซิตี สาธารณรัฐไอร์แลนด์ และ ศ.ดร. มูฮัมมัด ตายูดิน นิงกัล จากมหาวิทยาลัยเปิดมาเลเซีย
รูปแบบการประชุม เป็นการประชุมผ่านออนไลน์ โดยผู้จัดได้แบ่งแต่ละหัวข้อย่อยเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 บันทึกเทปไว้ล่วงหน้า ได้แก่
1) การบรรยาย โดยให้วิทยากรแต่ละคนรับผิดชอบบันทึกเรื่องที่จะบรรยายคนละไม่เกิน 20 นาที และจัดส่งไปให้ผู้จัด รวมทั้งเขียน เอกสารประกอบการบรรยายคนละประมาณ 5 หน้า เพื่อจัดทำเป็น proceedings
2) Forum โดยวิทยากรทั้ง 3 ท่าน ร่วมกันตอบคำถามเกี่ยวกับประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในสถานการณ์โควิดระบาด โดยผู้จัดส่งคำถามให้ล่วงหน้าและนัดบันทึกผ่านโปรแกรม ZOOM โดยมีผู้ดำเนินรายการเป็นผู้ถามคำถาม ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง
ส่วนที่ 2 วันประชุมจริง ในวันที่ 20 กันยายน 2564 ผู้จัดประชุมเปิดเทปที่บันทึกไว้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับชม วิทยากรทั้ง 3 ท่าน เข้าร่วมประชุม และตอบคำถามผู้เข้าประชุมทางกล่องข้อความ (chat box)
สรุปเนื้อหาสาระที่บรรยาย โดย ศ.เกียรติคุณ ดร. บุญทิพย์ สิริธรังศรี
Home Isolation: New Norms for Coping the 4th Wave of Covid-19 Pandemic in Thailand
จากการที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะระลอก 4 ทำให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งของประเทศได้รับผลกระทบมากทั้งด้านบุคลากรและนักศึกษาทั่วประเทศ ในส่วนของบุคลากร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ให้การดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นอย่างดี เพราะถือว่าบุคลากรเป็นผู้มีความสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จของมหาวิทยาลัยและของนักศึกษา
มหาวิทยาลัยได้จัดประชุมเสวนาผ่าน MS teams ให้แก่บุคลากรและประชาชนทั่วไป โดยเชิญวิทยากรมาให้ความรู้ความเข้าใจ เรื่องการแยกดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรได้เรียนรู้เพื่อการดูแลตนเองให้มีคุณภาพในฐานวิถีชีวิตใหม่ (new norms) การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่บ้านเป็นนโยบายของหลาย ๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทย การดูแลรักษาโดยแพทย์และพยาบาลเป็นผู้ดูแลรักษาทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบของ Telemedicine และ Telenursing ซึ่ง 1 ใน 4 ของวิทยากรบรรยายเป็นมหาบัณฑิตพยาบาลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการดูแลคนไข้ติดเชื้อโควิดที่กักตัวที่บ้านได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีประสบการณ์ในการศึกษาพยาบาลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทางไกลของ มสธ. มาก่อน
ในส่วน Forum ตอบคำถาม ศ.เกียรติคุณ ดร. บุญทิพย์ ได้ตอบสรุปโดยย่อว่า มหาวิทยาลัยได้พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้อย่างดี เนื่องจากคณาจารย์มีประสบการณ์และความชำนาญในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มาก่อน และมหาวิทยาลัยยังได้มีการอบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมอื่น ๆ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น สำหรับในเรื่องการประเมิน เน้นที่ Formative evaluation ส่วน summative evaluation มหาวิทยาลัยได้ออกแบบการจัดสอบและทำการจัดสอบนักศึกษาทั่วประเทศผ่านออนไลน์จนประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง รวมทั้งได้ออกแบบการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (blended learning) ที่สอดรับกับฐานวิถีชีวิตใหม่ (new norms) ซึ่งจะช่วยนำความผาสุกทางจิตใจและอารมณ์ (Emotional well-being) ให้แก่นักศึกษา คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัย
ศ.เกียรติคุณ ดร. บุญทิพย์ ยังได้ร่วมตอบคำถามทาง chat box ให้แก่มีผู้สนใจประมาณ 10 คน โดยขยายจากเรื่องที่บรรยาย
ศ.เกียรติคุณ ดร. บุญทิพย์ ได้แสดงความเห็นต่อการจัดประชุมผ่านออนไลน์ครั้งนี้ว่า “คิดว่ามีประสิทธิภาพและไม่ด้อยไปกว่าการประชุมแบบเผชิญหน้าหรือการประชุมออนไลน์ที่จัด real time เนื่องจากผู้จัดมีการวางแผนทำงานล่วงหน้า มีการประสานงานรวมทั้งเอื้ออำนวยวิทยากรบรรยายเป็นอย่างดี ทำให้วันประชุมมีความราบรื่นเพราะทุกอย่างเตรียมไว้แล้ว มหาวิทยาลัยจึงอาจประยุกต์รูปแบบการจัดการประชุมนี้และใช้ได้ในโอกาสต่อไป”